ช่วงบ่ายของวันที่ ๒๐ เดือนเมษายนที่ผ่านมา วัดหลิงหยิ่นซื่อ เมืองหางโจว จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมและขอขมากรรมระยะที่ ๒ ประจำปีมะโรง เพื่อขอพรจากพระรัตนตรัยให้ขจัดสิ่งชั่วร้ายที่ส่งผลเป็นปัจจัยให้พวกเรากระทำความชั่ว และขอพรให้พวกเราตั้งมั่นอยู่ในความดี พบเจอแต่สิ่งที่ดีงามเป็นปัจจัยให้พวกเราบำเพ็ญโยชน์เพื่อสังคมสืบไป
ช่วงบ่ายเวลา ๑๓.๐๐ น. คณะคฤหัสถ์สวมเสื้อห่ายชิงสำหรับปฏิบัติธรรม และรวมตัวกัน ณ หอจื๋อจื่อถัง (หอชี้ตรง) ของวัดหลิงหยิ่นซื่อ พระอาจารย์นำทุกคนสวดภาวนาพระนามของพระพุทธเจ้าว่า “หนา หมอ เปิ่น ซือ ซื่อ เจีย หมอ หนี ฝอ” (ขอนอบน้อมแด่พระบรมครูศากยมุนีพุทธเจ้า) สลับกันกราบและตั้งปณิธานโดยแบ่งเป็น ๒ ฝั่งซ้ายขวา การขอขมากรรมในครั้งนี้ ทุกคนตั้งใจจริงสำนึกความผิดพลาดในอดีตซึ่งเกิดจากความโลภ ความโกรธ กับความโง่เขลา และขอให้สิ้นสุดการจองเวรต่อกัน หยุดยั้งความชั่วร้ายที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อชำระร่างกายกับจิตใจให้สะอาด กำจัดอุปสรรคต่าง ๆ สร้างความสุขพร้อมปัญญา และได้หลุดพ้นในเร็ววัน
การขอขมากรรม มาจากภาษาสันสกฤตว่า “กฺษม” (หรือ “กฺษมยติ” ภาษาบาลีว่า “ขมา”) แปลทับศัพท์เป็นเสียงภาษาจีนว่า “ชั่นหมอ” เรียกโดยย่อว่า “ชั่น” มีความหมายว่า “สำนึกผิด” ดังนั้นจึงเป็นคำที่มีทั้งภาษาสันสกฤตคู่กับภาษาจีน และมักจะเรียกรวมกันว่า “ชั่นหุ่ย” (การขอขมากรรมสำนึกผิด)
ท่านเว่ยหล่าง หรือท่านฮุ่ยเหนิง พระสังฆปรินายกของนิกายเซนรูปที่ ๖ จึงนำคำทั้งสองนี้มาแยกอธิบายว่า “ชั่น” เป็นการรู้จักข้อผิดผลาด และอกุศลกรรมของตนที่ได้เคยกระทำมาแล้วในอดีต และเป็นการสำนึกในบาปที่ได้เคยกระทำมาจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบาปจากความโง่ ความสับสน ความหลอกลวง ความอิจฉาทั้งหลาย และรักษาระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นอีกต่อไป ส่วนคำว่า “หุ่ย” คือหลังจากสำนึกผิดแล้ว ก็ปฏิญาณตนว่าจักไม่ทำบาปสร้างอกุศลเหล่านั้นอีกต่อไป เมื่อวันนี้ได้รู้แล้วว่า สิ่งนั้นเป็นของไม่ดี ก็ต้องตัดทิ้งเสีย และไม่กลับมาทำอีก
ด้วยเหตุนี้เอง ในขณะขมากรรมจึงไม่ใช่เพียงแค่แสดงความผิดบาปที่เคยกระทำอย่างเปิดเผยแล้วสำนึกผิดเท่านั้น แต่ต้องศึกษาพุทธธรรมเพื่อให้จิตตื่นรู้และตั้งปณิธานอย่างมั่นคง เพราะใจที่มั่นคงในปณิธานนั้นจะทำให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข ความจริงใจนี้ จะเปลี่ยนแปลงตัวเราเองจากความผิดที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จในอนาคต จึงเป็นความหมายของการขมากรรมแบบพระพุทธศาสนาที่ว่า "ไม่สร้างบาปใหม่อีกต่อไป"
635 人数